จังหวัดเชียงใหม่ - ประเพณียี่เป็ง




ภาพของการลอยโคมนับพันๆ ใบขึ้นสู่ท้องฟ้าในคืนลอยกระทงของชาวล้านนาที่จัดขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒  โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นภาพที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักท่องเที่ยวและจดจำประเพณียี่เป็งในแบบนั้น แท้จริงแล้วประเพณียี่เป็งนั้นมีรายละเอียด มีพิธีกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิต การปฏิบัติของชาวล้านนา ทำให้ประเพณียี่เป็งยังคงเป็นประเพณีที่ชาวล้านนาถือปฏิบัติสืบต่อมาอย่างยาวนาน

ยี่เป็ง เป็นภาษาล้านนา แยกได้สองคำ คือคำว่า ยี่ ที่หมายถึง เดือนที่สองหรือเดือนยี่ตามที่คนล้านนาใช้เรียกเดือนพฤศจิกายนของทุกปี  และคำว่า เป็ง ที่หมายถึงพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ  โดยชาวล้านนาจะเริ่มประเพณียี่เป็งตั้งแต่วันขึ้น ๑๓ ค่ำ จะเป็นวันเตรียมข้าวของสำหรับทำบุญที่วัดในวันขึ้น ๑๔  ค่ำ  และในคืนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ก็จะนำกระทงไปลอยในแม่น้ำ

ประเพณียี่เป็งของชาวล้านนานั้นอยู่บนรากฐานความเชื่อเดียวกับประเพณีลอยกระทงในภูมิภาคอื่น วัตถุประสงค์สำคัญคือ  ขอขมาแม่พระคงคา บูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวล้านนา การเฉลิมฉลองงานประเพณีลอยกระทงแบบล้านนานจะเป็นการประดับตกแต่งโคมตามบ้านเรือน จัดซุ้มประตูป่าหรือซุ้มประตูเข้าสู่ปรัมพิธีประกอบพิธีกรรมของหมู่บ้าน เข้าวัดทำบุญทำทาน ฟังเทศน์มหาชาติ ซึ่งจะต่างจากการฉลองของภูมิภาคอื่นที่เน้นกิจกรรมยามค่ำคืน เช่น การเผาเทียนเล่นไฟ การลอยประทีบ ลอยกระทง

ประเพณีปฏิบัติของชาวล้านนาในเทศกาลยี่เป็ง หลักๆ แล้ว จะพาเข้าวัดทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลกับตนเองและครอบครัว  มีการตกแต่งสถานที่ด้วย ซุ้มประตูป่า ประดับไฟสีต่างๆ ตอนหัวค่ำจะพากันไปบูชาเทียนพระประธานในวิหารโบสถ์เพื่อสืบชะตา รับโชค และสะเดาะเคราะห์ โดยเทียนนี้จะใช้ไส้เทียนเท่าอายุของตัวเองหรืออาจจะเผื่อไว้เล็กน้อย กระดาษสาที่เขียนคาถา วันเดือนปีเกิดของคนๆ นั้น  เมื่อกลับมาบ้านก็จะจุดบูชาพระพุทธรูปที่บ้าน จุดประทีบหน้าบ้าน จุดดอกไม้ไฟ ปล่อยโคมลอย




กิจกรรมที่ชาวล้านนาทำในคืนยี่เป็ง

– การลอยสะเปาหรือภาชนะรูปร่างต่างๆ ทำจากหยวกกล้วยใส่เครื่องสักการะ ธูปเทียน พร้อมเครื่องอุปโภคแล้วนำไปลอยในแม่น้ำเพื่อเป็นการสักการะแม่พระคงคา  ประกอบกับความเชื่อที่ว่า การลอยสะเปาเป็นการทำบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และเป็นการสร้างบุญไว้สำหรับตนเองในภพชาติหน้า

-การจิบอกไฟดอกหรือดอกไม้ไฟที่บรรจุอยู่ในกระบอกหรือกระปุกดินเผา  นิยมนำไปวางบนพื้นหรือฝังดินไว้ให้ปลายกระบอกโผล่พ้นดินขึ้นมาเล็กน้อย เวลาจุดชวน ดอกไม้ไฟจะลุกเป็นไฟพุ่งขึ้นจากพื้นดินแล้วกระจายตัวเป็นสะเก็ดไฟคล้ายพุ่มดอกไม้ ชาวล้านนาเชื่อกว่าการจิบอกไฟดอกนี้เป็นการน้อมสักการะบูชาพระรัตนตรัย และเป็นการละเล่นสนุกสนานอย่างหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น